วันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ดวงนวางค์จักรเชิงมุมสัมพันธ์

บทความนี้เขียนโดยพลังวัชร์ ในปุจฉา-วิสัชนา เห็นว่าน่าสนใจให้มุมมองของ ทฤษฎีมุมสัมพันธ์ของดาวได้ดี สามารถบูรณาการเพื่อให้เข้าใจในโหราศาสตร์มากขึ้น เห็นได้ว่าโหราศาสตร์ล้วนมีที่มาจากแหล่งเดียวกัน มีการพัฒนาการออกไปตามสภาพสังคม วัฒนธรรม ภาษาของแต่ละท้องถิ่น

จึงนำมาเผยแพร่ซ้ำอีกครั้ง

การใช้ดวงนวางค์จักร ตรวจสอบมุมสัมพันธ์(Aspect)ของดาว

ในปัจจุบัน มีการใช้ดวงนวางค์จักรกันอย่างแพร่หลาย
ส่วนใหญ่จะใช้หนักไปทางตรวจสอบมาตรฐานของดาว(เช่นเกษตร ประ อุจจ์ นิจ)
ว่าถ้าได้มาตรฐานทั้งดวงราศีจักร และดวงนวางค์จักร พร้อมกัน
จึงจะเรียกไว้ได้มาตรฐานแท้หรือดี

แต่นี้เป็นอีกทัศนะหนึ่งที่จะทำให้ได้ใช้ดวงนวางค์จักรกันอย่ามีลูกเล่นมากขึ้น
ในการใช้ตรวจสอบการทำมุมของดาว หรือที่โหราศาสตร์สากลเรียกว่า Aspest

มุมสัมพันธ์(Aspect) หรือ การทำมุมของดาวนั้น หมายถึงการที่ดาว 2 ดวงที่เราสนใจ
มีระยะเชิงมุม(คล้ายวิชาเรขาคณิต) ต่อกันอย่างไร
โดยโหราศาสตร์สากลถือว่า ถ้าดาวที่เราสนใจ ไม่ได้ทำมุมในระดับถึงกันแบบองศา จะไม่มีอิทธิพลถึงกัน

ขอยกตัวอย่างมุมสัมพันธ์ที่เห็นกันอย่างเด่นชัดเช่น ๑ อาทิตย์ อยู่ในราศี เมษกุมกับ ๒ จันทร์ในราศีเมษเช่นเดียวกัน
ถ้าถือตามลักษณะการกุมของดาว ๑ อาทิตย์ จะมีอิทธิพลครอบงำ ๒ จันทร์เต็มที่
ก็คือต้องกุมกัน ณ ตำแหน่งองศาเดียวกัน จึงเรียกว่าสนิทองศา

หรือให้มีระยะห่างกัน(หรือแรงเอื้อม - Orb)ได้ในระดับหนึ่ง
ซึ่งขึ้นอยู่กับมติของแต่ละสำนัก เช่น 3 องศา 5 องศา หรือ 10 องศาหน้าหลังดาวที่เข้าทำมุมนั้น

เช่น ๑ อาทิตย์ อยู่ 15 องศาราศีเมษ ถ้าถือแรงเอื้อม 3 องศา
ถ้า ๒ จันทร์อยู่ใน 12 องศา - 18 องศาราศีเมษ ก็ให้ถือว่า ๑ อาทิตย์มีอิทธิพลครอบงำ ๒ จันทร์เต็มที่เป็นต้น
นี่เป็นทัศนะของโหราศาสตร์สากล ซึ่งก็มีโหราศาสตร์ไทยบางสำนักปรับมาใช้ในการพยากรณ์เหมือนกัน

แต่ในโหราศาสตร์ไทยเดิมนั้น จะถือว่าดาวมีอิทธิพลถึงกันได้ ต้องมีลักษณะที่สัมพันธ์กันในทางนวางค์จักร
และใช้ดวงนวางค์จักรในการตัดสิน

(ถ้าท่านใดยังไม่มีความรู้ด้านจักรราศีวิภาค ที่แบ่งเป็น 12 ราศี 36 ตรียางค์ 108 นวางค์
ขอให้ไปอ่านกระทู้ 1971 ของอ.สะพานเดินเรือ "คำตอบที่ 36" ทำความเข้าใจเป็นเบื้องต้นก่อน
หรือถ้าใครมีแผ่นลัคนาสำเร็จ ก็เอามาดูทำความเข้าใจประกอบก็จะเข้าใจได้ง่ายขึ้น
และถ้าท่านเขียนรูปดวงประกอบคำอธิบายในแต่ละข้อ วางเทียบกันจะเข้าใจง่ายขึ้นอีกครับ)

เช่นในกรณีที่ยกตัวอย่างข้างต้น ในกรณีของโหราศาสตร์ไทย จะยอมให้ ๑ อาทิตย์ มีอิทธิพลครอบงำ ๒ ได้เต็มที่นั้น
ก็ต่อเมื่อ ๒ จันทร์เข้าในระยะ 13 องศา 20 ลิปดา ถึง 16 องศา 40 ลิปดาในราศีเมษเท่านั้น
(ตกนวางค์ลำดับที่ 5 ในราศีเมษ เรียกปัญจมนวางค์ มีดาวเกษตร ๑ ราศี สิงห์เป็นเจ้านวางค์
ซึ่งเมื่อขับดาวเข้านวางค์จักรแล้ว๑ อาทิตย์ กับ ๒ ต้องกุมกันในราศีสิงห์แห่งดวงนวางค์จักรด้วย)

ตัวอย่างข้างต้นเป็นตัวอย่างของการ"กุม"กัน(Conjunction)ในราศีจักร
และดวงนวางค์ก็ต้อง"กุม"กัน จึงจะมีอิทธิพลถึงกันเต็มที่

กรณี เล็งกัน(180 องศา - Opposition)

๑ อาทิตย์ 1 องศาราศีเมษ เล็งกับจันทร์ 1 องศา ราศีตุลย์

๑ อยู่นวางค์ลำดับที่ 1 ในราศีเมษ มีดาว ๓ อังคารเกษตรราศีเมษเป็นเจ้านวางค์ ๑ จึงอยู่ในราศีเมษในดวงนวางค์จักร
๒ อยู่นวางค์ลำดับที่ 1 ในราศีตุลย์ มีดาว ๖ ตุลย์เกษตรราศีตุลย์เป็นเจ้านวางค์ ๑ จึงอยู่ในราศีตุลย์ในดวงนวางค์จักร

หรือ๑ อาทิตย์ 1 องศาราศีเมถุน เล็งกับจันทร์ 1 องศา ราศีธนู

๑ อยู่นวางค์ลำดับที่ 1 ในราศีเมถุน มีดาว ๖ ศุกร์เกษตรราศีตุลย์เป็นเจ้านวางค์ ๑ จึงอยู่ในราศีตุลย์ในดวงนวางค์จักร
๒ อยู่นวางค์ลำดับที่ 1 ในราศีธนู มีดาว ๓ อังคารเกษตรราศีเมษเป็นเจ้านวางค์ ๒ จึงอยู่ในราศีเมษในดวงนวางค์จักร

เพราะฉนั้น ในกรณีที่ดวงราศีจักร มีดาว"เล็ง"กัน
และเมื่อตรวจสอบทางนวางค์จักรแล้วดาวคู่นั้น"เล็ง"กันด้วย
จึงเรียกว่าดาวมีความสัมพันธ์แบบเล็งถึงกันแท้

กรณีร่วมธาตุ( ตรีโกณหน้า 120 องศา หรือตรีโกณหลัง 240 องศา -Trine)

๑ อาทิตย์ 1 องศาราศีเมษ มี ๒ จันทร์ร่วมธาตุ(ตรีโกณหน้า) 1 องศา ราศีสิงห์

๑ อยู่นวางค์ลำดับที่ 1 ในราศีเมษ มีดาว ๓ อังคารเกษตรราศีเมษเป็นเจ้านวางค์ ๑ จึงอยู่ในราศีเมษในดวงนวางค์จักร
๒ อยู่นวางค์ลำดับที่ 1 ในราศีสิงห์ มีดาว ๓ อังคารเกษตรราศีเมษเป็นเจ้านวางค์ ๑ จึงอยู่ในราศีเมษในดวงนวางค์จักร

หรือ ๑ อาทิตย์ 1 องศาราศีเมษ มี ๒ จันทร์ ร่วมธาตุ(ตรีโกณหลัง) 1 องศา ราศีธนู

๑ อยู่นวางค์ลำดับที่ 1 ในราศีเมษ มีดาว ๓ อังคารเกษตรราศีเมษเป็นเจ้านวางค์ ๑ จึงอยู่ในราศีเมษในดวงนวางค์จักร
๒ อยู่นวางค์ลำดับที่ 1 ในราศีธนู มีดาว ๓ อังคารเกษตรราศีเมษเป็นเจ้านวางค์ ๒ จึงอยู่ในราศีเมษในดวงนวางค์จักร

เพราะฉนั้น ในกรณีที่ดวงราศีจักร มีดาวร่วมธาตุหรือตรีโกณกัน
และเมื่อตรวจสอบทางนวางค์จักรแล้วดาวคู่นั้น"กุม"กัน
จึงเรียกว่าดาวมีความสัมพันธ์แบบตรีโกณถึงกันแท้

กรณีจตุโกณ(จตุโกณหน้า 90 องศา หรือจตุโกณหลัง 270 องศา -Square.)

๑ อาทิตย์ 1 องศาราศีเมษ มี ๒ จันทร์ จตุโกณหน้า 1 องศา ราศีกรกฎ

๑ อยู่นวางค์ลำดับที่ 1 ในราศีเมษ มีดาว ๓ อังคารเกษตรราศีเมษเป็นเจ้านวางค์ ๑ จึงอยู่ในราศีเมษในดวงนวางค์จักร
๒ อยู่นวางค์ลำดับที่ 1 ในราศีกรกฏ มีดาว ๒ จันทร์ เกษตรราศีกรกฏเป็นเจ้านวางค์ ๒ จึงอยู่ในราศีกรกฎในดวงนวางค์จักร

หรือ ๑ อาทิตย์ 1 องศาราศีเมษ มี ๒ จันทร์จตุโกณหลัง 1 องศา ราศีมกร

๑ อยู่นวางค์ลำดับที่ 1 ในราศีเมษ มีดาว ๓ อังคารเกษตรราศีเมษเป็นเจ้านวางค์ ๑ จึงอยู่ในราศีเมษในดวงนวางค์จักร
๒ อยู่นวางค์ลำดับที่ 1 ในราศีมกร มีดาว ๗ เสาร์เกษตรราศีมกรเป็นเจ้านวางค์ ๒ จึงอยู่ในราศีมกรในดวงนวางค์จักร

เพราะฉนั้น ในกรณีที่ดวงราศีจักร มีดาวจตุโกณกัน
และเมื่อตรวจสอบทางนวางค์จักรแล้วดาวคู่นั้น"จตุโกณ"กันในทิศทางเดียวกัน
จึงเรียกว่าดาวมีความสัมพันธ์แบบจตุโกณถึงกันแท้

(เช่นการจตุโกณหน้า ดวงราศีจักร มีดาว ๑ อยู่เมษ ๒ อยู่ กรกฏ โดยมองไล่จาก ๑ เวียนตามจักรมาหา ๒ ได้ 4 ราศี
ดวงนวางค์ต้องมี ๑ อยู่เมษ ๒ อยู่กรกฏ หรือ ๑ อยู่เมถุน ๒ อยู่ กันย์ หรือ ๑ พิจิก ๒ อยู่กุมภ์ ก็ได้
โดยมองจาก ๑ ไปหา ๒ ต้องอยู่ในทิศทางเดียวกันกันกับที่มองจากทางราศีจักร คือเวียนตามราศีจักร 4 ราศีด้วย

เช่นการจตุโกณหลัง ดวงราศีจักร มีดาว ๑ อยู่เมษ ๒ อยู่ มกร โดยมองไล่จาก ๑ เวียนย้อนจักรมาหา ๒ ได้ 4 ราศี
ดวงนวางค์ต้องมี ๑ อยู่เมษ ๒ อยู่มกร หรือ ๑ อยู่เมถุน ๒ อยู่มีน หรือ ๑ พิจิก ๒ อยู่กันย์ ก็ได้
โดยมองจาก ๑ ไปหา ๒ ต้องอยู่ในทิศทางเดียวกันกับที่มองจากทางราศีจักรคือเวียนย้อนราศีจักร 4 ราศีด้วย

ซึ่งในมุมนี้ มองจาก ๒ ไปหา ๑ จะง่ายกว่า แต่แสดงให้เห็นภาพว่าจริงๆแล้วมีที่มาเป็นเช่นนั้น)

กรณี โยคกัน(โยคหน้า 60 องศาและโยคหลัง 300 องศา - Sextile)

๑ อาทิตย์ 1 องศาราศีเมษ มี ๒ จันทร์โยคหน้า1 องศาราศีเมถุน

๑ อยู่นวางค์ลำดับที่ 1 ในราศีเมษ มีดาว ๓ อังคารเกษตรราศีเมษเป็นเจ้านวางค์ ๑ จึงอยู่ในราศีเมษในดวงนวางค์จักร
๒ อยู่นวางค์ลำดับที่ 1 ในราศีเมถุน มีดาว ๖ ตุลย์เกษตรราศีตุลย์เป็นเจ้านวางค์ ๒ จึงอยู่ในราศีตุลย์ในดวงนวางค์จักร

หรือ๑ อาทิตย์ 1 องศาราศีเมษ มี ๒ จันทร์โยคหลัง 1 องศาราศีกุมภ์

๑ อยู่นวางค์ลำดับที่ 1 ในราศีเมษ มีดาว ๓ อังคารเกษตรราศีเมษเป็นเจ้านวางค์ ๑ จึงอยู่ในราศีเมษในดวงนวางค์จักร
๒ อยู่นวางค์ลำดับที่ 1 ในราศีกุมภ์ มีดาว ๖ ตุลย์เกษตรราศีตุลย์เป็นเจ้านวางค์ ๒ จึงอยู่ในราศีตุลย์ในดวงนวางค์จักร

เพราะฉนั้น ในกรณีที่ดวงราศีจักร มีดาว"โยค"ถึงกัน และเมื่อตรวจสอบทางนวางค์จักรแล้วดาวคู่นั้น"เล็ง"กันด้วย
จึงเรียกว่าดาวมีความสัมพันธ์แบบโยคถึงกันแท้

ดังนั้นจึงขอสรุปเป็นกฏสำหรับเรื่องดังกล่าวว่า

1) ดาว กุม และ ตรีโกณ ในราศีจักร ต้อง "กุม"กันในดวงนวางค์จักรด้วย
2) ดาว เล็ง และ โยค ในราศีจักร ต้อง "เล็ง" กันในดวงนวางค์จักรด้วย
3) ดาว จตุโกณ ในราศีจักร ต้อง "จตุโกณ"ในทิศทางเดียวกัน ในดวงนวางค์จักรด้วย

มุมที่แสดงมานั้น เป็นมุมดาวที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในการพยากรณ์ คือกุม เล็ง โยค ตรีโกณ จตุโกณ
แต่มุมอ่อนๆ ประเภทอื่นๆ
เช่นมุมศูนย์พาหะ -30 องศา(ใช้กฏจตุโกณหลัง) มุมหนุนหรือศูนยพาหุ - 330 องศา(ใช้กฏจตุโกณหน้า) = Semisextile
มุมอริ - 150 องศา (ใช้กฏจตุโกณหลัง) และมุมมรณะ-210 องศา (ใช้กฏจตุโกณหน้า) = Inconjunct

ซึ่ง 4 มุมดังกล่าวเป็นมุมที่ใช้กันน้อย และเกิดการสับสนได้ง่าย
จึงงดที่จะกล่าว แต่สามาถพิสูจน์ได้แบบเดียวกับที่แสดงมาให้ดูแล้วทั้ง 6 แบบข้างต้น

ส่วนมุม 45 องศา - Semisquare ,135 องศา Sesquiquadrate, 72 องศา Quintile และ 144 องศา Biquintile
เป็นมุมที่ไม่มีใช้เลยในโหราศาสตร์ไทย(เป็นอิทธิพลของโหราศาสตร์สากลล้วนๆ)
และหาขอสรุปเป็นกฏได้ยาก จึงงดที่จะกล่าวเช่นกัน

ผมนำมาฝากนักพยากรณ์ที่ใช้ดวงนวางค์จักร เพราะคิดได้นานแล้ว
แต่ไม่ได้ใช้เลยเพราะหนักไปใช้มุมสัมพันธ์ของดาวเจ้าเรือนเกษตรมากกว่า
และถ้าไม่ได้เขียนฝากไว้ก็กลัวจะลืม และก็ไม่มีใครนำมาใช้กันได้อีก
ขอให้เพื่อนนักพยากรณ์นำไปปรับใช้ตามความเหมาะสมก็แล้วกันครับ

ด้วยความเคารพในศาสตร์แห่งการพยากรณ์
พลังวัชร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น